วันที่ 17 กรกฎาคม 2548 เป็นวันแรกที่คณะสงฆ์ มีพระราชสีลาภรณ์ และพระปรีชาญาณวิเทศ พร้อมกับคณะสงฆ์ จากนครซิดนีย์ จากเมืองแคนเบอร์รา และจากนครเมลเบิร์น เป็นต้น ได้ร่วมกันทำบุญเป็นสักขีพยานในการเปิดวัด โดยได้เช่าบ้านหลังหนึ่งทำเป็นวัดชั่วคราว พร้อมทั้งได้นิมนต์พระสงฆ์จำนวน 3 รูป เพื่ออยู่จำพรรษาในปีนั้น โดยมีพระละม้าย อภิสโม เป็นหัวหน้าพระสงฆ์
สำหรับการเช่าบ้านนั้น ได้จ่ายค่าเช่าบ้านเป็นรายสัปดาห์ๆ ละ 400 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (สี่ร้อย เหรียญออสเตรเลียถ้วน) หนึ่งเดือนจะจ่ายค่าเช่าบ้าน ประมาณ 1,200 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (หนึ่งพันสองร้อยเหรียญออสเตรเลีย) ค่าใช้จ่ายนี้ ไม่คิดรวมค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เป็นต้น จึงเป็นอันว่า โดยเฉลี่ยแล้วค่าใช้จ่ายจะตกอยู่ประมาณ 2,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (สองพันเหรียญ ดอลลาร์ออสเตรเลีย)
ต่อมา เมื่อเช่าบ้านได้ประมาณ 2 เดือน คณะสงฆ์และฆราวาสญาติโยมทั้งหลาย จึงมีการประชุมปรึกษาหารือกันใหม่ มีข้อสรุปว่า เมื่อพิจารณาระหว่างการจ่ายค่าเช่าบ้าน และการซื้อบ้านหลังใหม่ ค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน ก็ตกเกือบจะประมาณเท่าๆ กัน” ซึ่งทุกฝ่ายคือพระสงฆ์ และฆราวาส ได้ลงมติมีความคิดเห็นเป็นอันเดียวกัน ว่า ควรจะแสวงหาสถานที่ซื้อบ้านหลังใหม่ ตั้งเป็นวัดในโอกาสต่อไป
วัดใหม่ ซื้อบ้านอาคารหลังแรก
เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2548 วัดพุทธรังษี แอนนันเดล จึงได้ตัดสินใจซื้อบ้านพร้อมที่ดินแห่งใหม่ มีบริเวณพื้นที่ 4,195 ตารางเมตร (ประมาณ 2.5 ไร่) ด้านหน้าของวัด มีขนาดความกว้าง 90 เมตร ด้านข้างซ้ายมีขนาดความกว้าง 82.50 เมตร ด้านหลังมีขนาดความยาว 65 เมตร ด้านขวามีขนาดความยาว 90 เมตร ในพื้นที่ของบ้านหลังนั้น มีต้นไม้รื่นรมย์ อยู่ในเขตพื้นที่ไม่ห่างไกลจากชุมชนไทยมากนัก บ้านหลังนี้ซื้อได้ในราคา 550,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ห้าแสน ห้าหมื่น เหรียญออสเตรเลียถ้วน) โดยมีคุณเอกสิทธิ์ (นิค) พัฒนศรี ติดต่อประสานงานฝ่ายทนายความ และรับเป็นผู้ค้ำประกันกู้เงินกับธนาคาร ซึ่งมีพระครูปลัดอภิชัย อภิปุญโญ เป็นผู้เซ็นสัญญา พระละม้าย อภิสโม และพระมหาวิรัตน์ สุเมธิโก ร่วมเป็นสักขีพยาน
สำหรับบ้านหลังนี้ ทางวัดจะต้องใช้หนี้จ่ายเงินคืนให้กับธนาคาร เป็นระยะเวลาประมาณ 30 ปี ซึ่งทางวัดจะต้องจ่ายเงินทดแทนคืน ให้กับธนาคารเป็นรายสัปดาห์ๆ ละ 800 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (แปดร้อย เหรียญออสเตรเลียถ้วน) โดยเฉลี่ยค่าใช้จ่ายประมาณ 3,200 เหรียญออสเตรเลียต่อเดือน
ต่อมา วันที่ 27 เดือนพฤศจิกายน 2548 ได้ทำการย้าย จากบ้านเช่าหลังเก่า เข้ามาอยู่ในสถานที่ตั้งวัดแห่งใหม่ พร้อมกับประกอบบุญพิธี รับมอบบ้านหลังดังกล่าว โดยในวันนั้น มีแขกผู้มีเกียรติหลายท่าน ร่วมเป็นสักขีพยานอาทิ เช่น พระโสภณธรรมาภรณ์ วัดธัมมธโร กรุงแคนเบอร์รา เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ คุณสุจิตรา หิรัญพฤกษ์ เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงแคนเบอร์รา คุณบิล วิลเลียม เจมส์ ดันน์ กงสุลกิตติมศักดิ์ประจำนครบริสเบน เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ได้ให้เกียรติมาร่วมงานทำบุญพิธี ในวันทำบุญเปิดวัดใหม่ ดังที่กล่าวมาแล้วนั้นด้วย
หลังจากนั้น ก็มีข่าวดีตามอีก คือมีเพื่อนบ้านที่อาศัยอยู่รั้วชิดติดกันกับวัด ต้องการย้ายบ้านไปอยู่สถานที่อื่น จึงได้ขอเสนอขายบ้านพร้อมที่ดินให้กับทางวัด ทางวัดจึงได้ระดมความคิดหารือกัน หาข้อมูลเพิ่มเติมกันจากหลายๆ ฝ่าย ในเวลาต่อมา คณะสงฆ์ และฆราวาสญาติโยม ก็ได้ประชุมตกลงกันตัดสินใจซื้อบ้านหลังที่สองอีกแห่งหนึ่ง
วัดใหม่ ซื้อบ้านอาคารหลังที่สอง
ดังนั้น เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2549 วัดพุทธรังษี แอนนันเดล จึงได้ทำสัญญาซื้อบ้านพร้อมที่ดินแห่งที่ 2 สำหรับบ้านหลังที่สองนี้มีพื้นที่ 2,309.5 ตารางเมตร (ประมาณ ๑.๕ ไร่) ทำการซื้อได้ในราคา 570,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ห้าแสน เจ็ดหมื่น เหรียญออสเตรเลีย) โดยมีคุณวัฒน์ คุณสุทธินันท์ (ซูซาน) สกุลวิมุต สองสามีภรรยา เป็นผู้ติดต่อประสานกับทนายความและทำการกู้ยืมเงินทุนช่วยเหลือวัด ซึ่งมีพระครูปลัดอภิชัย อภิปุญโญ เป็นผู้เซ็นสัญญา พระละม้าย อภิสโม และพระมหาวิรัตน์ สุเมธิโก ร่วมเป็นสักขีพยานสำหรับบ้านหลังที่สองนี้ ทางวัดจะต้องจ่ายเงินทดแทนคืนให้กับธนาคารเป็นระยะเวลา 30 ปี โดยจะต้องชำระคืนให้กับธนาคารเป็นรายสัปดาห์ๆละ 900 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (เก้าร้อย เหรียญออสเตรเลียถ้วน) โดยเฉลี่ยแล้วจะต้องจ่ายเงินคืนให้กับธนาคารเดือนละประมาณ 3,600 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (สามพัน หกร้อย เหรียญดอลลาร์ออสเตรเลียถ้วน)
สำหรับบ้านหลังที่สองนี้ ความจริงได้ถูกขายให้กับคนอื่นเรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องจากว่าผู้ซื้อ ได้ทำสัญญาเอกสารไม่ผ่านทางด้านกฎหมาย จึงเป็นโอกาสดีสำหรับทางวัด เพราะว่าวัดมีโครงการขยายพื้นที่ให้กว้างขวางเพิ่มมากขึ้น
เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ทางวัดตัดสินใจ ซื้อบ้านหลังที่สอง เพราะว่ามีข้อดีทางกฎหมาย (ถ้าหาก สถานที่แห่งนั้นถูกซื้อเปลี่ยนไปเป็นบ้านพักคนชรา หรือโรงเรียน เงื่อนไงที่ทางวัดซื้อบ้าน จะจัดตั้งเป็นวัดก็จะต้องเปลี่ยนไป เป็นต้น) อีกทั้งยังป้องกันเพื่อนบ้านร้องเรียน ต่อทางรัฐบาลท้องถิ่น เวลาที่ญาติโยมมาเยี่ยมวัด หรือมาทำบุญที่วัด บางที่มีการพูดคุยส่งเสียงดังมาก จึงเป็นวิธีการป้องกันโดยทางอ้อมอีกประการหนึ่งด้วย
โครงการและแผนการดำเนินงานของวัดในอนาคต
- จดทะเบียนเป็นองค์กรการกุศล หรือเป็นองกรชาวพุทธ (Incorporation & Association)
- จดทะเบียน ขึ้นเป็นองค์กรกับรัฐบาลท้องถิ่น (The Gold Coast City Council) เพื่อยกระดับวัด เป็น Place of Worship หรือ Meditation Center & Practice
- ยื่นฟอร์มขอการยกเว้นภาษีทุกชนิด เช่น ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน เป็นต้น
- ขอสิทธิพิเศษ (Tax Deductible) เพื่อเป็นการยื่นขอลดภาษี ให้กับผู้ที่ขอบริจาคให้กับทางวัด ช่วยให้ไม่ต้องจ่ายภาษีแพง
- แผนงาน/แปลนวัดในอนาคต สร้างศาลาอเนกประสงค์ กุฏิพระสงฆ์ และกุฏิกรรมฐาน ที่พักสำหรับผู้มาปฏิบัติธรรม เป็นต้น
สถานภาพเหตุการณ์ปัจจุบันของวัด
ในปัจจุบัน วัดสังฆรัตนารามได้รับการต้อนรับ ความสนใจ และสนับสนุนจากพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตศรัทธา ทั้งชาวไทย และต่างประเทศ วัดสังฆรัตนารามแห่งนี้ได้กลายเป็นศูนย์รวมทางด้านจิตใจ นอกจากนี้ พระสงฆ์ยังถือว่าเป็นผู้มีบทบาท อีกทั้งยังเป็นผู้นำทางด้านจิตวิญญาณที่ดีของชาวพุทธ กิจวัตรประจำวัน คือ การทำวัตรเช้า-เย็น ฉันภัตตาหารภายในบาตร (ฉันมื้อเดียว) และฝึกอบรมกรรมฐาน นั่งสมาธิภาวนา
เมืองโกลด์ โคสท์ ถึงแม้ว่าจะมีประชาชนชาวไทย อาศัยอยู่จำนวนไม่มากนักโดยส่วนใหญ่ จะอาศัยอยู่เรียงรายตามหัวเมืองต่างๆ บริเวณใกล้เคียง จะอย่างไรก็ตามทุกคนก็มีความปรารถนาดี มีความจริงใจที่จะสร้างวัดแห่งนี้ ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี จึงขอฝากไว้ให้เป็นขวัญและกำลังใจ...ขออำนาจคุณพระศรีไตรรัตน์ เป็นฉัตรแก้วปกป้องให้คลาดแคล้ว ภัยพาล อยู่เป็นสุขสำราญ ตลอดนิจนิรันดร์กาล ..เทอญ