•  
  • English
  •  
  • Thai
  •  
  • Japanese
  •  
  • Korean
Language

วัดพุทธรังษี โตเกียว

ณ วันนี้ จะขอเล่าเรื่องประวัติความเป็นมา ของการสร้างวัดไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่มีนามชื่อว่า “วัดป่าพุทธรังษี (โตเกียว)” เรื่องเริ่มต้นเมื่อท่านพระครูปลัดอภิชัย อภิปุญฺโญ (ปัจจุบันได้รับแต่งตั้งสมณศักดิ์ ที่ “พระครูวิเทศธรรมานุศาสน์”) เจ้าอาวาสวัดพุทธรังษี (แอนนันเดล) นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ได้เดินทางไปเยี่ยมเยือนคณะศรัทธาญาติโยม ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ต่อมาจึงได้คิดริเริ่มก่อตั้งวัดแห่งนี้ขึ้น...

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 พระครูปลัดอภิชัย พร้อมด้วยพระอาจารย์วิวัฒน์ ยโสธโร และพระครูสมุห์ประเสริฐ อติสโย วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ ได้เดินทางไปเยี่ยมเยือนชุมชนชาวไทยที่พำนักอาศัยอยู่ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีคุณโศรดา คันซากิ เป็นผู้นิมนต์ให้เดินทางไปเยี่ยมเยือนในคราครั้งนั้น ในขณะที่เดินทางมาถึงสนามบินนาริตะนั้น คุณโศรดา ได้เดินทางมารับที่สนามบิน เพื่อนำไปจำวัดที่วัดปากน้ำญี่ปุ่น (ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดย พระเดชพระคุณฯ เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหารัชชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ) พระสงฆ์ทั้ง 3 รูป จึงได้เข้าพำนักจำวัดที่วัดแห่งนี้หนึ่งคืน โดยมีท่านพระครูสุธรรมาภินนท์ และคณะสงฆ์วัดปากน้ำญี่ปุ่น ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นเป็นอย่างดียิ่ง

หลังจากนั้นรุ่งเช้าวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 คุณนันทนา ฮิโนซากิ (เจ๊นา) ได้นำรถยนต์ส่วนตัวมารับบริการนำไปส่งที่เมืองโอเม่ ซึ่งเป็นชุมชนชาวไทยอีกแห่งหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น พร้อมกันนี้ในวันเดียวกันนั้น ก็ได้เข้าพักแรมที่ร้านขนมปัง ของซาโจ้ชาวญี่ปุ่นหนึ่งคืน และภายในคืนวันนั้นเอง พระครูปลัดอภิชัย จึงได้มีโอกาสปรารภปรึกษาหารือกับคณะศรัทธาญาติโยม เกี่ยวกับการหาสถานที่สร้างวัด และจัดตั้งสมาคมชุมชนชาวพุทธไทย ในประเทศญี่ปุ่น เพื่อหาแนวทางสร้างวัดในโอกาสต่อไป แต่คณะศรัทธาญาติโยมยังไม่มั่นใจเพราะไม่เคยคิดมาก่อน และยังไม่ได้คิดโครงการสร้างวัดดังกล่าวนั้นมาก่อน ดังนั้น พระครูปลัดอภิชัย จึงได้ให้แนวทางวางหลักการกว้างๆ ฝากไว้ให้เป็นการบ้านกับคณะศรัทธาญาติโยมชาวเมืองโอเม่ โดยมอบหมายให้คุณโศรดา ทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อประสานงาน เรื่องการสร้างวัด ขอให้พินิจพิจารณาดูกันให้ดีถี่ถ้วนอีกครั้งหนึ่ง

ต่อมารุ่งเช้าวันที่ 9 พฤษภาคม 2551 ก็ได้ย้ายไปพำนักอยู่ที่วัดมุงซุ่ยอิง (วัดญี่ปุ่น) เป็นวัดที่เก่าแก่ มีอายุราวประมาณกว่า 400 ปีมาแล้ว ได้พักแรมคืนอยู่ที่วัดแห่งนั้นรวมเป็นเวลา 5 คืน ในช่วงที่พักอยู่ที่นั่น หลวงพ่อ(พระสงฆ์ชาวญี่ปุ่น) เจ้าสำนักมีจิตใจดีมาก ได้ให้ ความสะดวกสบายช่วยเหลือและบริการอย่างดียิ่ง ในขณะเดียวกัน ก็ได้เดินทางไปทัศนะศึกษา กราบนมัสการขอพรจากหลวงพ่อพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ไดบัสสึ เมืองคะมะกุระ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่มากที่สุด และมีชื่อเสียงมากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น

หลังจากที่ได้เดินทางกลับจากกราบนมัสการหลวงพ่อใหญ่ ไดบัสสึ เมืองคะมะกุระ เรียบร้อยแล้ว ก็ได้อำลาคณะศรัทธาญาติโยม พร้อมกับฝากเรื่องการหาสถานที่ หรือที่ดิน เพื่อสร้างวัดตามที่ได้พูดคุยหารือกันนั้น และแล้วภายในวันนั้นเอง คณะพระสงฆ์ก็ได้เดินทางกลับประเทศออสเตรเลีย เพื่อรอฟังข่าวสารจากคุณโศรดา และคุณจูน ฟูกะยะ ผู้ประสานงานเกี่ยวกับที่ดินสร้างวัด ในระหว่างนั้น ก็ได้พยายามติดต่อประสานงานกับคุณโศรดา และคุณจูนอยู่เสมอ จนกระทั่งถึงเดือนสิงหาคม 2551 ก็ได้รับทราบข่าวดี จากคุณโศรดา รายงานให้ทราบข่าวทางโทรศัพท์เกี่ยวกับสถานที่สร้างวัด ซึ่งมีที่ดินอยู่ประมาณ 2 - 3 แปลง จึงขอนิมนต์ พระครูปลัดอภิชัย ให้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นอีกครั้งหนึ่ง เพื่อตรวจดูสถานที่และที่ดินดังกล่าว ว่ามีความเหมาะสม สามารถที่จะตั้งเป็นวัด พร้อมทั้งมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนประการใด เป็นต้น

ต่อมา เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ในระหว่างฤดูกาลเข้าจำพรรษา ของพระภิกษุสงฆ์ พระครูปลัดอภิชัย พร้อมด้วยพระครูสมุห์ประเสริฐ อติสโย และคุณสมวงศ์ เวยยาวัจจมัย โยมอุปถัมภ์วัด ได้เดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นอีกครั้ง เพื่อดูสถานที่และที่ดินสร้างวัดดังกล่าว เมื่อเดินทางไปถึงสนามบินนาริตะ ก็ได้พบกับคุณวีระศักดิ์เล็ก วงศ์ประเสริฐ เจ้าของและผู้จัดการมวยไทยยิม พร้อมทั้งคุณโศรดา ได้นำรถยนต์มารับบริการไปฉันภัตตาหารที่โรงยิมเทนโนได เมืองจิบะ หลังจากนั้นก็ได้เดินทางไปยังเมืองโอเม่ อีกเป็นครั้งที่สอง โดยได้เข้าพักแรมคืนที่ร้านนวดสมุนไพรโบราณของคุณจูน เป็นเวลา 5 วัน ขณะที่เดินทางมาถึงที่พักแล้ว จึงได้มีโอกาสปรึกษาหารือพูดคุยกับคุณโศรดา คุณวีระศักดิ์ คุณเจี๊ยบ และคุณจูน เกี่ยวกับการหาสถานที่สร้างวัด ต่างคนก็ได้ตัดสินใจจับมือร่วมกัน เพื่อแสวงหาสถานที่ดินสร้างวัดดังกล่าว ต่อมาในวันรุ่งขึ้น คุณโศรดาก็ได้นัดหมายกับคุณคุโดซัง ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้จัดการสถาบันการศึกษา วิทยาลัยการศึกษาแห่งหนึ่ง ในกรุงโตเกียว เพื่อประชุมตกลงกับบริษัทนายหน้าขายที่ดิน พร้อมกันนี้ได้เดินทางไปดูที่ดินอยู่หลายแห่ง แต่ก็พิจารณาเห็นว่า ไม่เหมาะที่จะตั้งเป็นวัด จึงขอเวลานำไปคิดทบทวนประกอบการพิจารณาดูก่อน หลังจากนั้น คณะทั้งหมดได้เดินทางกลับประเทศออสเตรเลีย

ก่อนออกพรรษาประมาณเดือนตุลาคม คุณโศรดาได้รายงานข่าวให้ทราบว่า ได้ไปพบกับคุณลำพูน วาชิมิ เจ้าของร้านอาหารไทยล้านนา เมืองฮาชิโอจิ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองโอเม่ และกรุงโตเกียวเท่าไหร่นัก คุณโศรดาได้ปรารภเรื่องเกี่ยวกับการหาสถานที่และที่ดินสร้างวัดให้กับคุณลำพูน เพื่อทราบ เมื่อคุณลำพูนทราบเรื่องแล้ว จึงนึกขึ้นได้ว่ามีลูกค้าที่ร้านอาหารคนหนึ่งชื่อ คุณคุโบซัง ซึ่งทำงานเป็นนายหน้าขายที่ดิน เคยมาทานอาหารที่ร้านประจำ หลังจากนั้นต่อมา คุณลำพูนก็ได้แนะนำคุณโศรดาให้รู้จักกับคุณคุโบซัง ต่อมาไม่นานนัก คุณคุโบซัง ก็ได้นำคุณโศรดาและคุณลำพูนไปตรวจดูที่ดินแปลงหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยคิวริน มีการคมนาคมไปมาสะดวกมากมีรถเมล์หลายสาย วิ่งผ่าน เหมาะที่จะตั้งเป็นวัด ในขณะเดียวกัน คุณลำพูน ก็ได้ถ่ายวีดิโอส่งมาถวาย เพื่อให้พระครูปลัดอภิชัย พิจารณาดูเพื่อเป็นการประกอบการตัดสินใจ

หลังจากนั้น พระครูปลัดอภิชัย ได้ประชุมคณะสงฆ์ และคณะศรัทธาญาติโยมกรรมการวัดพุทธรังษี (แอนนันเดล) เรื่องการสร้างวัดไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ทุกท่านทุกคนต่างก็มีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ หลังจากออกพรรษาแล้ว เมื่อเสร็จจากงานทำบุญทอดกฐินที่ วัดพุทธรังษี (แอนนันเดล) และวัดสังฆรัตนาราม (โกลด์โคสท์) เรียบร้อยแล้ว จึงมีโครงการที่จะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อตรวจสอบดูสถานที่ และที่ดินสำหรับตั้งเป็นวัดดังกล่าวนั้น

ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2551 พระครูปลัดอภิชัย อภิปุญฺโญ พร้อมด้วยพระมหาวิรัตน์ สุเมธิโก คุณปัญญา พูลชัย กรรมการวัด คุณสมวงศ์ เวยยาวัจจมัย เจ้าของและผู้จัดการร้านอาหารไทยสิทธิธาดา ซึ่งเป็นโยมอุปถัมภ์วัด รวมเป็น 2 ท่าน และ 2 คน ครบจำนวนนับได้เป็นเลข 4 จึงได้เดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นอีกครั้งหนึ่ง เพื่อตรวจสอบดูสถานที่และที่ดินที่ตั้งวัด ตามที่คุณโศรดากับคุณลำพูนได้ถวายรายงานเพื่อให้ทราบแล้วนั้น เมื่อเดินทางมาถึงสนามบินนาริตะ คณะทั้งหมดก็ได้เตรียมรอขึ้นรถบัสลีโมซีน จากสนามบินนาริตะไปยังเมืองอาชิโอจิ เพื่อพบกับคุณโศรดา และคุณลำพูน พร้อมกับคณะศรัทธาญาติโยมชาวพุทธอีกกลุ่มหนึ่ง ที่อยู่อาศัยในเมืองฮาชิโอจิ และได้พักอาศัยอยู่ที่เมืองแห่งนั้น เป็นเวลานานพอสมควรโดยตั้งจิตอธิษฐานแน่วแน่ ว่าถ้าหากไม่พบ หรือไม่ได้ที่ดินสร้างวัด จะไม่เดินทางกลับประเทศออสเตรเลีย หลังจากนั้น ก็ได้ไปตรวจดูสถานที่ หรือที่ดินหลายแปลงหลายแห่ง แต่ก็ไม่มีสถานที่เหมาะสมกับการสร้างวัด เมื่อกล่าวโดยสรุป ได้พิจารณาเห็นว่า ที่ดินที่ตั้งอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยคิวริน ตามที่ญาติโยมได้ถวายรายงานให้ทราบแล้วนั้น มีความเหมาะสม ควรที่จะตั้งเป็นวัดมากที่สุด จึงได้มอบหมายให้คุณโศรดา และคุณคุโดซัง พร้อมกับคุณคุโบซัง เป็นผู้ติดต่อกับเจ้าของบ้าน และบริษัทนายหน้าขายที่ดิน คือคุณทะคิรีซัง เพื่อทำเอกสารสัญญาการซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวนั้น

ต่อมาภายหลังไม่นานนัก คุณปัญญา และคุณสมวงศ์ ก็ได้เดินทางกลับประเทศออสเตรเลีย ส่วนพระครูปลัดอภิชัย และพระมหาวิรัตน์ สุเมธิโก คงยังพำนักอาศัยอยู่ที่เมืองฮาชิโอจิต่อไป เพื่อทำงานทางด้านเอกสารหลายๆอย่าง กับคุณคุโดซัง และคุณโศรดา ส่วนงานด้านเอกสารที่เป็นภาษาญี่ปุ่น (เกี่ยวกับเรื่องซื้อขายที่ดิน) นั้น ก็ได้มอบหมายให้คุณคุโดซัง เป็นผู้ติดต่อประสานงานกับนักกฎหมายท้องถิ่น และรัฐบาลญี่ปุ่นต่อไปจนกว่าจะได้สถานที่และที่ดินผืนนี้เป็นผลสำเร็จ มีการเจรจาตกลงทำเอกสารสัญญากับบริษัทขายที่ดิน โดยใช้เวลานานกว่า 4-5 เดือน ในที่สุดจึงได้นัดหมายทำสัญญาซื้อขายกัน

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ได้มีการนัดหมายตกลงเซ็นต์สัญญาซื้อขายที่ดิน กับบริษัทนายหน้าขายที่ดิน คือคุณทะคิรีซัง โดยบ้านพร้อมที่ดินหลังดังกล่าวนี้ มีมูลค่าราคา 30,500,000 เยน (สามสิบล้านห้าแสนเยนถ้วน) และได้วางเงินมัดจำล่วงหน้า จำนวนเงิน 3,000,000 เยน (สามสิบหมื่นเยน หรือ 3 ล้านเยน) ส่วนจำนวนเงินที่เหลือนอกจากนั้น จะต้องจ่ายงวดสุดท้ายในวันที่มีการโอนกรรมสิทธิ ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย โดยผู้ขายได้ให้สัญญากับผู้ซื้อ ว่า ตั้งแต่นี้ต่อไปภายใน 3 เดือนข้างหน้า จะต้องจ่ายเงินทั้งหมดตามสัญญาที่ตกลงกันไว้แล้วนั้น (เจ้าของบ้านและที่ดิน คือคุณมารีซัง ซี่งได้อาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้มาประมาณ 40 ปีแล้ว หลังจากที่สามีเสียชีวิตไปเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา) เมื่อกล่าวโดยสรุปคณะพวกเราทั้งหมด ที่เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ในการทำสัญญาซื้อขายบ้านและที่ดินแห่งนี้ ในวันนั้น คือคุณโศรดา คุณคุโดซัง คุณมยุรี คุณวีระศักดิ์ คุณต๋อย และ Mr. Steve เป็นต้น ทุกฝ่ายทุกท่านได้ให้ความร่วมมือแปลเอกสาร พร้อมทั้งให้กำลังใจ จนกระทั่งการทำสัญญาเสร็จสิ้นลงด้วยดีทุกประการ หลังจากนั้น พระครูปลัดอภิชัย และพระมหาวิรัตน์ สุเมธิโก ก็ได้เดินทางกลับประเทศออสเตรเลีย เพื่อรอฟังข่าวเหตุการณ์ หลังจากมีการเซ็นต์สัญญาซื้อขายที่ดินกันเรียบร้อยแล้ว จะมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่ ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในระหว่างวันที่ 10 พฤษภาคม 2552 พระครูปลัดอภิชัย และพระมหาวิรัตน์ สุเมธิโก จะต้องเดินทางกลับไปประเทศญี่ปุ่นอีกครั้งหนึ่ง เพื่อทำหนังสือสัญญาโอนกรรมสิทธิที่ดิน และจ่ายเงินงวดสุดท้ายให้หมดตามสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้หลังจากครบกำหนด 3 เดือนล่วงไปแล้ว

และหลังจากที่รอเอกสารสัญญาโอนกรรมสิทธิที่ดินในระหว่างนั้น คณะศรัทธาญาติโยมชาวเมืองฮาชิโอจิ ซึ่งมีคุณองุ่น คุณลำพูน คุณบี และคุณมยุรี ได้จัดที่พักถวาย เนื่องจากบ้านและที่ดิน ที่จะทำการซื้อนั้น ยังไม่สามารถจะเข้าไปพักอาศัยอยู่ภายในบ้านหลังนั้นได้ จนกระทั่งเหลือเวลาอีก 2 เดือนจะเข้าพรรษา ท่านพระครูปลัดอภิชัย จึงได้มีการนัดหมายประชุมกับคุณโสรดา และคุณคุโดซัง ขอเจรจาทำสัญญาจ่ายเงินเพื่อขอให้พระภิกษุสงฆ์เข้าไปอยู่จำพรรษาในบ้านหลังนั้นให้ได้ก่อน ส่วนเรื่องการทำเอกสารสัญญาจ่ายเงินงวดสุดท้ายนั้น ให้รอไปก่อนจนกระทั่งทุกฝ่ายพร้อมเพรียงกัน จึงจะมีการประชุมนัดหมายเจราจากันอีกครั้งหนึ่ง

เหลือเวลาอีกเพียง 7 วันก่อนที่จะเข้าพรรษา จึงได้รับอนุญาตให้เข้าไปพักอาศัยอยู่ในบ้านหลังดังกล่าวนั้นได้ และในขณะเดียวกัน คณะญาติโยมก็ได้พร้อมเพรียงใจกันจัดเตรียมสถานที่ เพื่อจัดงานพิธีเปิดวัด พร้อมกันนี้ได้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ และพระเถรานุเถระ จากประเทศออสเตรเลีย และประเทศไทย โดยมีพระเดชพระคุณฯ พระธรรมเจติยาจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระศรีมหาธาตุฯ บางเขน กรุงเทพฯ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และฯพณฯเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น คุณสุวิทย์ สิมะสกุล เป็นประธานฝ่ายฆราวาส มีพระสงฆ์เดินทางมาร่วมเจริญพระพุทธมนต์ ในงานพิธีเปิดวัดจำนวน 11 รูป พร้อมกับพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวญี่ปุ่น ประมาณกว่า 200 คน ได้เข้าร่วมประกอบพิธีทำบุญเปิดวัดในวันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน 2552 ซึ่งงานดังกล่าวนี้ ได้รับความสนใจ และได้รับการสนับสนุนร่วมมือร่วมใจกันทุกฝ่ายจนกระทั่งงานนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีทุกประการ

ในการนี้ จึงขอกราบขอบพระคุณ พระเถรานุเถระ และพระสงฆ์ทุกรูป ที่ได้รับนิมนต์เพื่อมาเป็นเกียรติ เป็นสักขีพยานร่วมงานพิธีเปิดวัดในครั้งนี้ พร้อมกันนี้ก็ขอขอบคุณ/ขอบใจ ท่านพุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า ทั้งชาวไทยและชาวญี่ปุ่น ทั้งที่ได้เอ่ยนาม และไม่ได้เอ่ยนามมา ณ ที่นี่ ทุกท่านทุกคนที่ให้ความร่วมมือร่วมใจสนับสนุน พร้อมกับให้ความอุปถัมภ์ตลอดเรื่อยมาตั้งแต่เริ่มต้น จนกระทั่งงานครั้งนี้ประสบความสำเร็จทุกประการ จึงขออนุโมทนาขอบคุณ/ขอบใจมา ณ โอกาสนี้ด้วย

เหลังจากเสร็จงานพิธีเปิดวัดเรียบร้อยแล้ว ในระหว่างวันที่ 4 - 5 กรกฎาคม 2552 พระครูปลัดอภิชัย พร้อมด้วยคณะสงฆ์และคณะศรัทธาญาติโยมชาวไทยและชาวญี่ปุ่น เมืองฮาชิโอจิ และเมืองอื่นๆที่อยู่รอบบริเวณใกล้เคียงกรุงโตเกียว ได้พร้อมเพรียงร่วมแรงร่วมใจ จัดงานวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา “วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา” โดยคณะสงฆ์และคณะศรัทธาญาติโยมวัดป่าพุทธรังษี (โตเกียว) ได้ร่วมใจกันประกอบพิธีทำบุญตักบาตร บวชเนกขัมมะ และเวียนเทียน เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณพระรัตนตรัย เนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาดังกล่าวนี้ด้วย

ในวันเดียวกันนั้นเอง ท่านพระครูปลัดอภิชัย พร้อมด้วยคณะสงฆ์และคณะศรัทธาญาติโยมได้ประชุมลงมติเกี่ยวกับการตั้งชื่อวัด ที่เหมาะสมกับสถานภาพบ้านเมือง หรือพื้นที่/ที่ดินแห่งนี้ ในที่สุดจึงได้ลงมติให้ตั้งชื่อวัด ว่า “วัดป่าพุทธรังษี (โตเกียว)” เพราะคำว่า “พุทธรังษี” แปลว่า รังสีหรือรัศมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อนึ่ง ชื่อวัดดังกล่าวนี้ ได้รับการประทานพระนาม จากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน ทรงมีพระประสงค์ประทานนามให้กับวัดพุทธรังษี นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ดังนั้น วัดป่าพุทธรังษี (โตเกียว) นี้ จึงเกิดขึ้นเพราะได้อาศัย วัดพุทธรังษี (แอนนันเดล) นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เป็นผู้ให้การสนับสนุนอุปถัมภ์การสร้างวัดไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยประการฉะนี้แลฯ

สำหรับคณะกรรมการบริหารงาน วัดป่าพุทธรังษี (โตเกียว) นั้น ในเบื้องต้นนี้ ได้แต่งตั้งคณะทำงาน และผู้ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานในระหว่างการก่อตั้งวัดแห่งนี้ ในการนี้ ท่านพระครูปลัดอภิชัย อภิปุญโญ ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าว มีรายนามดังต่อไปนี้

      1. พระครูวิเทศธรรมานุศาสน์ วัดพุทธรังษี (แอนนันเดล) ประเทศออสเตรเลีย ประธานกรรมการบริหาร
      2. พระมหาวิรัตน์ สุเมธิโก วัดพุทธรังษี (แอนนันเดล) ประเทศออสเตรเลีย กรรมการ/เลขานุการ
      3. พระพิชัย ฉินฺนกาโม วัดป่าพุทธรังษี (โตเกียว) ประเทศญี่ปุ่น รักษาการเจ้าอาวาส
      4. พระเก่ง สีลเตโช วัดป่าพุทธรังษี (โตเกียว) ประเทศญี่ปุ่น กรรมการ/ผู้ช่วยเลขานุการ
      5. คุณโศรดา คันซากิ เมืองโอเม่ ประเทศญี่ปุ่น กรรมการ
      6. คุณประพันธ์ กล้าหาญ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น กรรมการ
      7. คุณลำพูน วาชิมิ เมืองฮาชิโอจิ ประเทศญี่ปุ่น กรรมการ
      8. คุณมยุรี มิซุยโกชิ เมืองฮาชิโอจิ ประเทศญี่ปุ่น กรรมการ/เหรัญญิก
      9. Mr. Hagino Mazashi กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น กรรมการที่ปรึกษา

ในท้ายที่สุดนี้ การเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างวัดไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้เดินทางมาถึงบรรทัดใกล้จะสุดท้ายแล้ว ผิดถูกประการใดบ้าง หากท่านผู้อ่านที่เคยได้ทำงานร่วมกัน หรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดสนิทสนมกัน มีความคิดเห็นเป็นประการใด หรือจดจำสิ่งใดได้บ้าง ขอได้โปรดให้คำชี้แนะนำทาง เพื่อที่จะได้เก็บรวบรวมเป็นเอกสาร ข่าวสารข้อมูล เพื่อสร้างความสนใจ ทำให้เกิดศรัทธาต่อท่านผู้อ่านทั้งหลาย หรือ สามารถจะนำเรื่องราวดังกล่าวนี้ เล่าให้กับอนุชนรุ่นหลัง เพื่อให้รู้จักประวัติความเป็นมา หรือสืบสานเรื่องราวของวัดแห่งนี้ ในอนาคตกาลข้างหน้าสืบต่อไป ดังนี้แลฯ.