•  
  • English
  •  
  • Thai
  •  
  • Japanese
  •  
  • Korean
Language

ประวัติวัดพุทธรังษี, แอนนันเดล

วัดพุทธรังษี ตามที่ทราบกันโดยทั่วไปของประชาชน มีสถานที่ตั้งวัดอยู่ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย มีอยู่สามแห่งด้วยกัน คือ ที่สแตนมอร์ ซึ่งเรามักจะเรียกกันด้วยคำสั้น ๆ ว่า วัดสแตนมอร์ ชื่อเรียกเป็นทางการคือ วัดพุทธรังษี สแตนมอร์ เป็นวัดแห่งแรกและเป็นวัดต้นแบบของพุทธศาสนาแบบเถรวาทในประเทศออสเตรเลีย แห่งที่สองคือ วัดป่าลูเมียห์ มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า วัดป่าพุทธรังษี ลูเมียห์ตั้งอยู่ที่เมืองแคมเบลล์ทาวน์ และแห่งที่สามคือ วัดแอนนันเดล ซึ่งมีชื่อเรียกเป็นทางการว่า วัดพุทธรังษี แอนนันเดล มีสถานที่ตั้งอยู่ในเขตแอนนันเดล จึงเรียกขานนามกันตามสถานที่ตั้งอยู่ของวัด เพื่อให้จำง่าย และเรียกชื่อให้สั้นขึ้นของคนทั่วไป

ตามประวัติของวัดพุทธรังษีทั้งสามแห่ง ก่อนมีการย้ายที่ตั้งของวัดอีกสองแห่งออกไปในภายหลัง ได้กล่าวไว้ในหนังสือพิธีเปิดเจดีย์ วัดป่าพุทธรังษี ลูเมียห์ (24 พ.ย.2534) โดยสรุปว่า ในปี พ.ศ. 2515 สมาคมชาวพุทธแห่งรัฐนิวเซ้าธ์เวลส์ (Buddhist Society of NSW) ได้มีหนังสือถึงมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร บางลำภู กรุงเทพมหานคร เรียนเชิญให้นำพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท และเชิญให้มาสร้างวัดเพื่อเป็นศาสนสถานที่เคารพสักการะบูชา และปฏิบัติธรรมของชาวพุทธทั่วไป ในประเทศออสเตรเลีย โดยท่านทูตแห่งกรุงแคนเบอร์รา (Canberra คือเมืองหลวง ของออสเตรเลีย) ในขณะนั้น คือ ฯพณฯ เอกอัครราชทูต คุณประสงค์ บุญเจิม ได้ทำหนังสือกราบทูลเจ้าพระคุณฯ สมเด็จพระญาณสังวร ซึ่งเป็นองค์ประธานนายกกรรมการมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในครั้งสมัยนั้น ดังนั้น ในปี พ.ศ.2516 มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย และวัดบวรนิเวศ จึงได้ส่งพระสองรูป คือ พระปริยัติกวี (ปัจจุบันคือ พระเดชพระคุณฯ พระสาสนโสภณ) และพระขันติปาโล (พระสงฆ์ชาวอังกฤษ ที่บวชในพระพุทธศาสนา) มาพักอยู่จำพรรษา ณ บ้านเลขที่ 9 Ripon Way Street Roseberry โดยได้รับความช่วยเหลือ จากชาวพุทธทั้งที่เป็นชาวไทยและต่างประเทศ พร้อมทั้งพุทธสมาคมแห่งรัฐนิวเซ้าธ์เวลล์

ในราวประมาณ เดือนธันวาคม พ.ศ.2517 คณะพระสงฆ์ และชาวพุทธทั่วไปประกอบด้วยชาวออสเตรเลีย ไทย พม่า ศรีลังกา และอื่นๆ ได้ประชุมตกลงกันโดยมีความเห็นพ้องต้องกัน ว่า ควรที่จะตั้งวัดหรือหาสถานที่ตั้งวัดกันใหม่ จึงตัดสินใจซื้อบ้านหลังหนึ่งอยู่ที่ สแตนมอร์ ซึ่งได้รับเงินบริจาคช่วยเหลือโดย คุณหญิงละมูน มีนะนันท์ ผ่านทางมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย วัดบวรนิเวศ ซึ่งได้บริจาคทุนทรัพย์ในการสร้างวัด และซื้อที่ดิน และต่อมาภายหลัง เจ้าพระคุณฯ สมเด็จพระญาณสังวร ทรงประทานนามวัดที่สแตนมอร์ว่า วัดพุทธรังษีตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

วัดพุทธรังษี สแตนมอร์ ได้ทำการเปิดวัดอย่างเป็นทางการเมื่อวันวิสาขบูชา วันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม พุทธศักราช 2518 โดยมีเจ้าพระคุณฯ สมเด็จพระญาณสังวร ทรงเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร ทรงเป็นประธานฝ่ายฆราวาส

ประวัติการสร้างวัดป่าพุทธรังษี ลูเมียห์

ในปีพุทธศักราช 2523 ชาวพุทธเป็นจำนวนมากได้เริ่มอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศออสเตรเลีย จากโพ้นทะเล และจากประเทศแถบเอเชียตอนใต้ ในจำนวนผู้อพยพนั้น เป็นชาวพุทธทั้งลาว เขมร และเวียตนาม เป็นต้น และชาวพุทธเหล่านั้นต้องการจะสร้างวัด ทำวัดให้เป็นชุมชนตนเอง ด้วยเหตุนี้ วัดพุทธรังษี สแตนมอร์ จึงเริ่มมองเห็นโอกาส และมองเห็นการณ์ไกลในอนาคต ที่จะทำการย้ายสถานที่สร้างวัดแห่งใหม่ ประกอบกับวัดพุทธรังษี สแตนมอร์ มีสถานที่ไม่สะดวกเอื้ออำนวย ต่อพุทธศาสนิกชน ที่มาเยี่ยมวัด ถึงแม้ว่าต่อมาภายหลัง มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย และวัดบวรนิเวศได้บริจาคเงินซื้อที่ดิน และบ้านอีกสองหลังเพิ่มเติมอีกก็ตาม ถึงกระนั้น ทางวัดก็ไม่อาจทำการก่อสร้าง หรือปลูกสร้างศาลาหลังใหม่ เพื่อที่จะรองรับศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั่วไปทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ เนื่องจากทางการสำนักเทศบาลไม่อนุญาต และเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียงไม่เห็นด้วยหลายประการ วัดพุทธรังษี สแตนมอร์ จึงไม่สามารถดำเนินการใดๆ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดเอาไว้ ต่อมาจึงได้ทำการขายที่ดินบางส่วน และบ้านอีกสองหลัง เพื่อเก็บรวบรวมทุนทรัพย์ปัจจัย นำไปซื้อที่ดินสร้างวัดแห่งใหม่ ที่ตำบลลูเมียห์ อำเภอแคมเบลล์ทาวน์ ในปีพุทธศักราช 2527

ดังนั้น ในเวลาต่อมา หลังจากซื้อที่ดินแล้วประมาณ 3-4 ปี จึงเริ่มทำการก่อสร้างวัดแห่งใหม่ ซึ่งเรียกชื่อภายหลังว่า วัดป่าพุทธรังษี ลูเมียห์ โดยมีพิธีการวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2531 และใช้เวลาในการก่อสร้างอยู่ประมาณ 8 เดือนจึงแล้วเสร็จ และได้ทำการเปิดวัดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2531 โดยมีพระเดชพระคุณฯ พระพรหมมุนี วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และฯพณฯ เอกอัครราชทูตไทย แห่งกรุงแคนเบอร์รา คุณเจตน์ สุจริตกุล และท่านกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ คุณสุวิทย์ สิมะกุล เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และในวันเดียวกันนี้ วัดป่าพุทธรังษี ได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์งานก่อสร้างพระเจดีย์พุทธรังษี ซึ่งต่อมาได้เริ่มงานก่อสร้าง หลังจากทำพิธีวางศิลาฤกษ์แล้วประมาณ 3 ปีจึงแล้วเสร็จ โดยได้ประกอบพิธีเฉลิมฉลองพระเจดีย์พุทธรังษี ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2534 โดยมีพระเดชพระคุณฯ พระพรหมมุนี วัดบวรนิเวศ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมทั้งคณะสงฆ์จากเมืองไทย ร่วมงานในพิธีดังกล่าว และคุณรองเพชร สุจริตกุล รองเอกอัครราชทูตไทย แห่งกรุงแคนเบอร์รา และท่านกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ คุณสำเริง ลักษณะสุต เป็นประธานฝ่ายฆราวาส

ประวัติการตั้งวัด/สร้างวัดพุทธรังษี แอนนันเดล

วัดพุทธรังษี แอนนันเดล เป็นวัดไทยแบบเถรวาท ในบวรพระพุทธศาสนา และอยู่ในความอุปถัมภ์ของมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย และวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ในท่ามกลางชุมชนไทยนครซิดนีย์ สถานที่ตั้งวัด คือ เลขที่ 49 ถนนทราฟัลการ์ เขตแอนนันเดล นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย วัดแห่งนี้ ได้ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 เดือนมีนาคม 2538 โดยผ่านการซื้อขายประมูลราคาตามกฎหมายรัฐบาลออสเตรเลีย มีพื้นที่ประมาณ 303.56 ตารางวา หรือประมาณ 1,214.24 ตารางเมตร ปัจจุบันวัดแห่งนี้นอกจากจะเดินทางไปมาสะดวกแล้ว อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางของชุมชนไทยอีกส่วนหนึ่งด้วย

ประวัติเรื่องราวและความเป็นมา

เริ่มต้นที่ หลังจากที่มีการย้ายวัดไปสร้างที่แห่งใหม่ คือวัดป่าพุทธรังษี ลูเมียห์ เมืองแคมเบลทาวน์ ตามที่กล่าวมาข้างต้นนั้น วัดพุทธรังษี สแตนมอร์ จึงกลายเป็นสถานที่คับแคบลงไปอย่างเห็นได้ชัดเจน เพราะบ้านและที่ดินบางส่วนได้ถูกขายไป เพื่อเก็บรวบรวมทุนปัจจัยสร้างวัดแห่งใหม่พร้อมกันนี้ยังมีปัญหาอีกหลาย ประการ คือเพื่อนบ้านที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง ทำการร้องเรียนต่อทางการคือสำนักเทศบาล เรื่องการทำเสียงดังรบกวน และการจัดการเรื่องจราจรของวัด เป็นต้น

ต่อมาในปี พ.ศ.2538 วัดพุทธรังษี สแตนมอร์ ขณะนั้น พระเดชพระคุณฯ พระสุวีรญาณ (ปัจจุบันคือ พระธรรมเจติยาจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพฯ) ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส จึงได้ร่วมประชุมปรึกษาหาหรือ กับคณะสงฆ์และญาติโยม โดยมีท่านกงสุลใหญ่ และเจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ ได้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนั้นด้วย จึงได้มีการลงมติในที่ประชุมพิจารณา ถึงสถานที่สร้างวัดแห่งใหม่ เนื่องจาก วัดพุทธรังษี สแตนมอร์ มีความคับแคบ ไม่พอเพียงกับจำนวนของพุทธศาสนิกชนที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เมื่อมีการประกอบพิธีกรรม หรือศาสนพิธีเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา หรือประกอบกิจกรรมอย่างอื่น เช่น เปิดทำการการเรียนการสอนภาษาไทยภายในวัด เป็นต้น ทำให้เกิดเสียงดังรบกวนเพื่อนบ้านใกล้เคียง และยังมีปัญหาอื่นๆอีกเกิดขึ้นตามมาอยู่เสมอๆ ดังนั้น คณะกรรมการวัด จึงได้ประชุมปรึกษาหารือกัน ในที่สุดก็มีความคิดเห็นพ้องกันว่า ควรที่จะมองหาสถานที่สร้างวัดแห่งใหม่ที่เหมาะสม อันตั้งอยู่ไม่ห่างไกลจากตัวเมืองซิดนีย์มากนัก

ต่อมา ในราวประมาณเดือนมีนาคม 2538 ทางวัดจึงได้สำรวจพบอาคารและที่ดิน ตั้งอยู่เลขที่ 49 ถนนทราฟัลการ์ แอนนันเดล มีความเหมาะสมที่จะใช้เป็นสถานที่ตั้งวัดพุทธรังษี แห่งใหม่ อีกทั้งยังสามารถที่จะทำการพัฒนาต่อไปได้อีกในอนาคต ดังนั้น คณะสงฆ์และคณะพุทธบริษัทจึงได้ทำหนังสือแจ้งให้มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยทราบเรื่อง และขอกู้ยืมเงิน เพื่อเป็นทุนทดรองจ่ายในการจัดซื้อที่ดินแห่งใหม่เป็นจำนวนเงิน 10,000,000 บาท (สิบล้านบาทถ้วน) อาคารและที่ดินแห่งนี้บริษัท Ray & White ได้ปิดประกาศประมูลโดยการประกวดราคา พร้อมกันนี้วัดพุทธรังษี จึงขอให้บริษัทดังกล่าวตรวจสอบ และยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรว่า พี้นที่ดังกล่าวสามารถขออนุญาตจากทางการสำนักเทศบาล สร้างเป็นศาสนสถาน หรือสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้หรือไม่ หลังจากที่ทางวัดพุทธรังษี ได้ทราบข้อมูลโดยละเอียดแล้ว ท่านเจ้าอาวาส (พระสุวีรญาณ) จึงมอบหมายให้คุณมานพ เกียรติประเสริฐ และคุณโกมุท สิงหรา ณ อยุธยา เป็นผู้เข้าร่วมประมูลประกวดราคาซื้ออาคารและที่ดิน เลขที่ 49 ถนนทราฟัลการ์ แอนนันเดล โดยได้ชนะประมูลประกวดราคาซื้อเป็นมูลค่าจำนวนเงิน 710,000 เหรียญดอลลาร์ออสเตรเลีย

ต่อมาในวันที่ 8 เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช 2538 เป็นวันแรกแห่งการย้ายจากวัดพุทธรังษี สแตนมอร์ เข้ามาสู่สถานที่ตั้งวัดแห่งใหม่ และเริ่มทำการก่อสร้าง ตกแต่งและปรับปรุงเรื่อยมาจนกระทั่งวัดแล้วเสร็จ และสามารถที่จะประกอบพิธีกรรมต่างๆได้ตามปกติ จึงในเวลาต่อมาคณะสงฆ์ พร้อมทั้งคณะพุทธบริษัทชาวไทย และชาวต่างประเทศ ได้ร่วมกันเฉลิมฉลอง วัดแห่งใหม่ ที่มีนามเรียกกันว่า วัดพุทธรังษี แอนนันเดล ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

วัดพุทธรังษี แอนนันเดล ทำการเปิดวัดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2542 โดยมีพระเดชพระคุณฯ พระญาณวโรดม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และฯพณฯ เอกอัครราชทูตไทย แห่งกรุงแคนเบอร์รา คุณลักษณาจันทร์ เลาหะพันธ์ และท่านกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ คุณชัยยงค์ สัจจานนท์ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส

รายนามพระสงฆ์พำนักอยู่จำพรรษา ปี 2550-2551

  1. พระครูปลัดอภิชัย อภิปุญโญ
  2. พระประเสริฐ อติสโย
  3. พระมหาวิรัตน์ สุเมธิโก
  4. พระมหาวีระยุทธ วีรสกฺโก
  5. พระพิชัย ฉินฺนกาโม
  6. พระบุญนำ มนาโป

กิจวัตรประจำวันของพระภิกษุสงฆ์

  • เวลา ๐๔.๓๐ – ๐๕.๐๐น. ตื่นนอน ปฏิบัติกิจธุระส่วนตัว
  • เวลา ๐๕.๐๐ – ๐๖.๐๐ น. เจริญจิตภาวนา นั่งสมาธิ
  • เวลา ๐๖.๐๐ – ๐๗.๐๐ น. ทำวัตรเช้า ไหว้พระ สวดมนต์
  • เวลา ๐๗.๐๐ – ๐๘.๐๐ น. ทำความสะอาด บริเวณวัด /ฉันน้ำปานะ
  • เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๐.๓๐ น. ต้อนรับศรัทธาของญาติโยมที่มาเยี่ยมวัด (ภาคเช้า)
  • เวลา ๑๑.๐๐ – ๑๒.๐๐ น. ฉันภัตตาหาร
  • เวลา ๑๓.๐๐ – ๑๖.๓๐ น. ต้อนรับศรัทธาของญาติโยมที่มาเยี่ยมวัด (ภาคบ่าย)
  • เวลา ๑๘.๓๐ – ๒๐.๓๐ น. ทำวัตรเย็น ไหว้พระ สวดมนต์ เจริญจิตภาวนา

กิจกรรมวันทำบุญอาทิตย์สุดท้ายของเดือน

ตามปกติวัดพุทธรังษี แอนนันเดล เป็นวัดไทยที่ถือปฏิบัติกิจสงฆ์ฉันเอกามื้อเดียว วันทำบุญพิเศษ คือวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือน จะจัดกิจกรรมให้มีการทำบุญโดยเริ่มพิธีด้วยการไหว้พระนมัสการพระรัตนตรัย สมาทานศีล รับศีล (โดยส่วนมากจะรับศีล 5 ในวันพระ หรือวันธรรมสวนะ จะรับถือปฏิบัติอุโบสถศีล ) พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ (สวดพาหุง) เสร็จเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้น พระสง์ทั้งหมดก็จะออกเดินรับบิณฑบาต ภายในบริเวณวัดด้านนอกศาลาอาคารเอนกประสงค์คู่แฝดของวัด ถ้าหากว่า วันไหนมีฝนตก พระสงฆ์ก็จะออกรับบิณฑบาต ภายในศาลาด้านใน เพื่อป้องกันฝน และสะดวกแก่ญาติโยมที่มาร่วมทำบุญ ในวันดังกล่าว

กิจกรรมวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และวันอื่นๆ

วัด พุทธรังษี แอนนันเดล ได้ปฏิบัติศาสนกิจเช่นเดียวกันกับวัดไทยทุกแห่งทั้งที่ในประเทศไทย หรือต่างประเทศ โดยเฉพาะวันสำคัญ หรือการปฏิบัติกิจวัตร เกี่ยวกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอาทิ เช่น วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันทำบุญกฐิน วันเฉลิมพระชนมพรรษา วันทำบุญขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ เป็นต้น ในส่วนที่เป็นกิจกรรมเกี่ยวกับพิธีทางพระพุทธศาสนานั้น พระสงฆ์ รวมทั้งอุบาสกอุบาสิกา และชาวพุทธทั้งหลาย ก็จะถือปฏิบัติเช่นเดียวกัน คือมีพิธีปฏิบัติธรรม บำเพ็ญเจริญจิตภาวนา สาธยายพระพุทธมนต์ รักษาอุโบสถศีล และร่วมประกอบพิธีเวียนเทียนกันตามปกติ

ส่วนกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกันอาทิ เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษา หรือวันนักขัตฤกษ์อื่นๆ จะประกอบพิธีให้สอดคล้องกับวิถีไทยวิถีพุทธ เพื่อเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมอันดีงามของชาวไทยเอาไว้

การเผยแผ่พระพุทธศาสนา และสาธารณสงเคราะห์

เนื่องจากวัดพุทธรังษี แอนนันเดล ตั้งอยูในท่ามกลางชุมชน การเดินทางคมนาคม มีความสะดวกสบาย เหมาะแก่การมาเยี่ยมเยือน จึงมีประชาชนชาวไทย และต่างประเทศมาเยี่ยมชมวัดอยู่ประจำมิได้ขาด พระสงฆ์ได้ปฏิบัติศาสนกิจบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมทั้งทางตรง และทางอ้อมโดยปริยาย โดยให้ความช่วยเหลือปฏิบัติศาสนกิจ ให้กับประชาชนเริ่มตั้งแต่แรกเกิด จนกระทั่งวายชนม์ งานอีกประการหนึ่งคือ เนื่องจากวัดเป็นศูนย์กลางในชุมชนจึงมีนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถม จนกระทั่งถึงระดับชั้นมัธยม ได้มาเยี่ยมวัด พร้อมทั้งได้ศึกษาพระพุทธศาสนา เป็นความรู้พื้นฐานเบื้องต้น พร้อมกันนี้ทางวัดยังได้ให้ความร่วมือกับโรงเรียนวัดพุทธรังษี สอนภาษาไทยภาคฤดูร้อนอีกด้วย ในการอบรมจริยธรรมและทำกิจกรรมร่วมกันอื่นๆ เช่น การทำบุญตักบาตรในวันขึ้นปีใหม่ เป็นต้น